เรื่อง ความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา

สวัสดีค่ะกลับมาอีกแล้วนะคะในบทความนี้เราจะมาให้กำลังใจ ให้พลังในการเดินหน้าเพื่อพัฒนาตนเองของครูกันค่ะ มุมมองแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่มุมหนึ่งที่ต้องมองให้เห็น คือมุมความเป็นจริงของตนเอง ความจริงที่เราต้องอยู่กับมันและเราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ..เราลองมาดูกันค่ะ คุณเป็นครูประเภทนี้หรือไม่ถ้ามีแม้แต่ข้อเดียว รีบเลย! รีบพัฒนาตนเองด่วน!

ในโลกยุคปัจจุบันที่การเรียนรู้หมุนเร็วและไม่เคยหยุดนิ่ง ครู ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้กลับกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มหลักที่ต้องปรับตัวมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีครูจำนวนไม่น้อย ถึงแม้จะสอนมานาน ยังคงยึดติดกับ วิธีการสอนแบบเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้ประสบการณ์ที่มีมานานเป็น "เกราะ" ป้องกันการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ยอมออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เรียนและระบบการศึกษาโดยรวม

1. วิธีการสอนล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนยุคใหม่

ครูบางคนยังใช้รูปแบบการสอนแบบบรรยายหน้าห้องพูดไปเรื่อยๆให้หมดชั่วโมง ใช้ตำราเดิม ๆ และกิจกรรมเดิม ๆ ปีแล้วปีเล่า โดยไม่ได้พิจารณาว่าผู้เรียนในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากหรือแม้แต่ครูใหม่ๆที่ไม่ได้เข้าเนื้อหาที่ตรงกับจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนเปิดโทรศัพท์ได้อย่างสบายใจแต่ขาดเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน เด็กในยุคดิจิทัลมีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่าง ต้องการการมีส่วนร่วม การใช้เทคโนโลยี การเรียนแบบ Active Learning และการใช้ชีวิตจริงมาผูกโยงเข้ากับบทเรียน หากครูยัง "ยึดติดกับสูตรเดิม" ผลคือ ผู้เรียนเบื่อหน่าย ขาดแรงจูงใจ และเรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ

2. "ไม่ถนัด" กับ "ไม่พยายาม" คือคนละเรื่อง

บ่อยครั้งเมื่อถูกชักชวนให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือแนวทางการสอนที่แตกต่าง ครูบางคนจะตอบว่า "ไม่ถนัด" หรือ "กลัวทำผิด" ซึ่งความจริงแล้ว เบื้องหลังคำว่าไม่ถนัดคือ "ไม่ยอมลอง" และ "ไม่พยายามเรียนรู้" การกลัวการเริ่มต้นใหม่เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้าปล่อยให้ความกลัวกลายเป็นข้ออ้าง มันจะกลายเป็นกำแพงขวางกั้นไม่ให้เกิดการพัฒนา แม้ว่าจะมีการอบรมจากหน่วยงานใด แต่กลับไม่สามารถนำความรู้ที่อบรมมาใช้พัฒนาทักษะตนเองในด้านการสอนหรือการเรียนรู้ของตนเองได้แล้วยิ่งน่าเป็นห่วง


3. ความรู้เดิมไม่เพียงพออีกต่อไป

สำหรับบางคนที่จบปริญญาโท มาเกิน 10 ปีก็ไม่มีความหมาย เพราะการมีความรู้มากในอดีตไม่ได้หมายความว่าจะมีศักยภาพเพียงพอในปัจจุบัน ครูที่ไม่อัพเดตตัวเองจะไม่สามารถตอบคำถามใหม่ ๆ จากเด็กยุคใหม่ได้ ไม่สามารถเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับโลกแห่งความจริงที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูแบบนี้อาจกลายเป็น "แหล่งข้อมูลล้าหลัง" แทนที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน

4. ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในวิทยาลัย

ในสถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ที่ต้องแข่งขันด้านคุณภาพ หากมีครูบางคนไม่ยอมที่จะพัฒนาตนเอง แต่ยังคงครองชั้นเรียนด้วยอำนาจจากประสบการณ์ อาจทำให้ครูรุ่นใหม่ (บางคน)รู้สึกหมดไฟ หรือรู้สึกว่า "ไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรมากนัก" ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ทั้งในหมู่ครูและนักเรียน

ทางออกคือ "กล้าที่จะเรียนรู้" ไม่ใช่แค่ "สอนให้จบไปวัน ๆ" ครูทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีทันที ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องเหมือนนักวิชาการ แต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เจตนาในการพัฒนา” กล้าถาม กล้าลอง กล้าผิด และกล้าปรับเปลี่ยน เพราะโลกของการศึกษาไม่ใช่เรื่องของ "ความถนัด" แต่คือ "ความตั้งใจในการเติบโต"

 หากครูไม่เรียนรู้ ครูก็ไม่ควรหวังให้นักเรียนอยากเรียนรู้เช่นกัน”